AIS เดินหน้าภารกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ โดยร่วมกับ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. ประกาศความร่วมมือ รวมพลังเครือข่ายปลอดภัย ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ "ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” มุ่งเชิญชวนหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมกว่า 100 องค์กร ผสานพลังตัดวงจรมิจฉาชีพตั้งแต่ต้นทาง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อปกป้องประชาชนจากภัยทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ตอกย้ำการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งและปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัลทุกมิติ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ซึ่งจำเป็นต้องก้าวทันตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงโลกของไซเบอร์ด้วย ซึ่งมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็งอยู่ตลอดเวลา จากรายงานพบว่า ความเสี่ยงเรื่องข้อมูลบิดเบือนและข่าว เป็นความเสี่ยงอันดับ 1 ของโลก ส่วนความเสี่ยงเรื่องจารกรรมและไซเบอร์ อยู่ในลำดับที่ 5 โดยในช่วง 2 ปีข้างหน้า นับจากปี 2568 เป็นต้นไป ความเสี่ยงทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว จะยังเป็นความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญไปอีก 10 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่านานาประเทศยังคงต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ขณะเดียวกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่นำไปสู่อาชญากรรม ในรูปแบบออนไลน์ ด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตามนานาชาติทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงและความปลอดภัยด้านไซเบอร์อย่างเห็นได้ชัด
ในส่วนของประเทศไทย ที่ผ่านมารัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการรับมือภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างความเสียหายต่อประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เดินหน้าทำงานเชิงรุกผ่าน 3 แกนหลัก ทั้งการกำหนดและพัฒนากฎหมาย สร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการยกระดับความมั่นคงระดับประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งปราบปรามยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และขจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านการดำเนินการทั้งในเชิงนโยบาย เชิงปฏิบัติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ปฏิบัติการ “Seal Stop Safe” ตลอดจนมาตรการซีลชายแดน ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์, การแก้ไขกฎหมายควบคุมบัญชีม้า-ซิมม้า รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐอย่าง กสทช., ธนาคารแห่งประเทศไทย, ปปง. และกระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึงภาคเอกชน ธนาคาร บริษัทโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มดิจิทัล
โดยรัฐบาลยังคงเดินหน้ายกระดับนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์สู่ระดับชาติ และบูรณาการกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นภารกิจร่วมของทุกๆ คนในประเทศ ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมกันในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกภาคส่วน ได้ร่วมมือกันผลักดัน "ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" ให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในการสร้างประเทศไทยที่ปลอดภัยในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง
ด้าน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของมิจฉาชีพทางไซเบอร์มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเริ่มใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และ Deepfake เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แล้วนำไปหลอกลวงผ่าน SMS โซเชียลมีเดีย หรือ เว็บไซต์ปลอมที่เลียนแบบธนาคารหรือหน่วยงานรัฐ รวมถึงการหลอกลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่ อีกทั้ง ยังพบการเผยแพร่แอปพลิเคชันปลอมที่ฝังมัลแวร์เพื่อขโมยข้อมูลจากเครื่องของเหยื่อ และการแฮกบัญชีโซเชียลมีเดียเพื่อนำไปหลอกลวงคนใกล้ตัวให้โอนเงิน
แนวทางป้องกันที่สำคัญ คือ ประชาชนควรตรวจสอบข้อมูลก่อนโอนเงิน โดยตำรวจไซเบอร์ได้สร้างแอปพลิเคชัน Cybercheck และ เว็บไซต์ Checkgon โดยประชาชนสามารถเลือกใช้บริการจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และหลีกเลี่ยงการติดตั้งแอปพลิเคชันนอกระบบ App Store หรือ Play Store อีกทั้ง ควรอัปเดตซอฟต์แวร์และตั้งค่าความปลอดภัยให้สูงสุด เช่น การตั้งค่า การยืนยันตัวตนแบบสองชั้นในบัญชีโซเชียล เพื่อป้องกันการถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565- เมษายน 2568 พบว่า คดีที่มีการแจ้งความสูงสุด ได้แก่
- การหลอกขายสินค้า/บริการผ่านออนไลน์โดยไม่ส่งของ (396,911 คดี คิดเป็น 44.73%ของคดีทั้งหมด)
รองลงมา ได้แก่
- การหลอกให้โอนเงินเพื่อสมัครงาน
- การหลอกให้กู้เงินโดยให้เหยื่อโอนค่าดำเนินการล่วงหน้า
- การหลอกลวงผ่านระบบคอมพิวเตอร์
- การแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ (Call Center Scam)
โดยปัจจุบันมีการแจ้งความคดีออนไลน์สะสมกว่า 887,315 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 89,105 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 77 ล้านบาท/วัน
ในส่วนของการดำเนินการเชิงรุก สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดตั้ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และเปิดปฏิบัติการเชิงรุก โดยใช้เทคโนโลยี AI และระบบวิเคราะห์ธุรกรรมทางการเงิน เพื่อติดตามเส้นทางเงินของขบวนการอาชญากร
ที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงิน จนสามารถอายัดบัญชีธนาคารที่ใช้กระทำผิดได้มากกว่า 613,000 บัญชี คิดเป็นยอดเงินกว่า 50,000 ล้านบาทและสามารถอายัดเงินได้จริงแล้วกว่า 9,500 ล้านบาท
ในปัจจุบัน บช.สอท. ได้ดำเนินโครงการ “Money Cash Back ปิดบัญชี ตามล่าม้า คว้าเงินคืน” โดยเป็นการปฏิบัติการร่วมกับธนาคารต่างๆ เมื่อมีธุรกรรมต้องสงสัย สามารถอายัดเงินและจับกุมผู้ต้องหา จากนั้นจึงนำเงินที่อายัดไว้คืนแก่ผู้เสียหาย โดยปัจจุบัน มีผู้เสียหายได้รับเงินคืนแล้วจำนวนหลายราย และโครงการดังกล่าวจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป
“ในวันนี้ สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยไซเบอร์ที่ถูกพัฒนาโดยกลุ่มมิจฉาชีพในหลายรูปแบบและทวีความรุนแรงมากขึ้น นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งด้านข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาล จากสถิติการแจ้งความออนไลน์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 - 30 เมษายน 2568 มีคดีออนไลน์ 887,315 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยความเสียหาย 77 ล้านบาทต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการถูกหลอกให้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันปลอม ถูกดูดเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว หรือแม้แต่ถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขในทุกมิติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเร็ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการเชิงรุก ทั้งในด้านการป้องกัน ปราบปราม และพัฒนาโครงสร้างการทำงานให้สอดรับกับพฤติกรรมอาชญากรรมยุคใหม่ ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ศปอส.ตร. เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และเปิดปฏิบัติการเชิงรุก พร้อมใช้เทคโนโลยี AI และระบบวิเคราะห์ธุรกรรม เพื่อติดตามเส้นทางการเงินของขบวนการอาชญากรเหล่านี้ และยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง AIS เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันและขยายผลสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นว่าการยกระดับความร่วมมือสู่ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน”พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าว
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ใช้งานสู่โลกออนไลน์ บริษัทฯจึงมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์และทักษะออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภารกิจ “Cyber Wellness for THAIs” เพื่อเสริมสร้างการใช้งานที่ปลอดภัย ทั้งการปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานภาครัฐ ควบคุมระดับเสาสัญญาณมือถือในพื้นที่ชายแดน ปฏิบัติการร่วมกับตำรวจลงพื้นที่ปราบปรามมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมความปลอดภัยไซเบอร์ อาทิ บริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center และ บริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาทักษะดิจิทัลให้ประชาชนผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ และการสร้างตัวชี้วัดสุขภาวะด้านดิจิทัล
การสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย ความร่วมมือภายใต้ภารกิจ “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ในครั้งนี้เป็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ภายใต้โมเดล 3 ประสาน ได้แก่
-เรียนรู้ (Educate) สร้างความเข้าใจและทักษะในการป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับเครือข่ายทั้ง Ecosystem เพื่อยับยั้งปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้นทาง
-ร่วมแรง (Collaborate) ผนึกกำลังกับพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมสื่อสารและสร้างแรงขับเคลื่อนสังคม
-เร่งมือ (Motivate) รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนกฎระเบียบ หรือกติกา แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่มั่นคงและปลอดภัยอย่างยั่งยืน
“เพื่อเป็นการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ AIS จึงได้ร่วมกับ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของก้าวสำคัญในวันนี้ เราเชื่อมั่นใจว่าเมื่อทุกภาคส่วนมีความรู้ ความเข้าใจ และจุดมุ่งหมายร่วมกัน จะนำไปสู่การสร้างสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพและปลอดภัยในทุกมิติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เดินหน้าร่วมกันต่อไป เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของประชาชนคนไทยทุกคน” นายสมชัย กล่าวในที่สุด