(6 เม.ย. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยย้ำว่าขณะนี้รูปแบบการทำงานได้เปลี่ยนจาก “การวิ่งระยะสั้น” เป็น “การวิ่งมาราธอน” เพื่อรักษาความต่อเนื่องในระยะยาว และรองรับความซับซ้อนของสถานการณ์ที่ยังคงมีผู้สูญหายติดอยู่ภายในอาคารถล่ม
โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 2 รายจากบริเวณโซน C ซึ่งเป็นจุดที่คาดว่าจะมีผู้ติดอยู่มากที่สุด การทำงานที่จุดนี้เผชิญอุปสรรคจากสภาพภูมิประเทศที่ไม่ปลอดภัย โดยจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เปิดทางผ่านด้านหน้าและด้านข้าง ล่าสุดสามารถเปิดเส้นทางให้รถหนักเข้าถึงเพื่อเริ่มการรื้อถอนเนินด้านบนที่กีดขวางพื้นที่ค้นหาได้แล้ว
“ตอนนี้เริ่มเอาจุดที่ไม่มั่นคงออก ทำให้เครื่องมือหนักเข้าถึงได้มากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า โอกาสในการพบผู้รอดชีวิตน้อยลง ขณะเดียวกันก็พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินงานยังได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงจิตอาสาพระราชทาน และหน่วยกู้ภัยจากประเทศแคนาดาที่เดินทางมาเสริมกำลัง แม้เดิมตั้งใจจะปฏิบัติภารกิจในเมียนมาร์แต่ไม่สามารถเดินทางต่อได้ จึงเข้าร่วมสนับสนุนภารกิจในไทย โดยคาดว่าหน่วยดังกล่าวมาพร้อมสุนัขกู้ภัย (K-9) ด้วย
ในด้านการบริหารพื้นที่ ทีมงานได้มีการจัดสรรกำลังให้พร้อมสำหรับการทำงานระยะยาว พร้อมดูแลเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังประสานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในเรื่องการตรวจสอบโครงสร้างอาคาร ซึ่งเป็นภารกิจแยกจากหน้าที่หลักของ กทม. ที่ดูแลด้านอุบัติภัยและการให้ความร่วมมือ
สำหรับการค้นหาผู้รอดชีวิต แม้จะผ่านไปแล้วกว่า 10 วัน แต่เจ้าหน้าที่ยังยืนยันว่า “ยังมีความหวัง” โดยใช้เทคโนโลยีและแผนที่โครงสร้างเพื่อระบุโพรงหรือช่องทางที่ผู้ประสบเหตุอาจใช้หลบภัย โดยเมื่อพบจุดที่น่าสงสัย เครื่องจักรจะหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อให้ทีม K-9 และหน่วยกู้ชีพเข้าไปสำรวจเบื้องต้น
ล่าสุด มีการค้นพบโพรงที่เชื่อมระหว่างโซน B กับ C ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกหลักของคนงานในช่วงเวลาเช้า เที่ยง เย็น ทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าผู้ที่ติดอยู่บางส่วนอาจพยายามหลบหนีผ่านเส้นทางนี้ และร่างผู้เสียชีวิตที่พบเมื่อคืนก็อยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว
ในด้านการพิสูจน์อัตลักษณ์ มีการใช้โปรแกรมที่สามารถระบุข้อมูลของผู้ที่พบ เช่น ชั้นที่อยู่ ชื่อบริษัท เพื่อช่วยวิเคราะห์เส้นทางการอพยพอย่างแม่นยำ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้รับการสนับสนุนจากทีมกู้ภัยนานาชาติ
สำหรับยอดผู้สูญหายที่ยังติดอยู่ภายใน เจ้าหน้าที่ระบุว่ายังไม่สามารถสรุปตัวเลขได้ชัดเจน เนื่องจากต้องรอการตรวจสอบจากฝ่ายพิสูจน์หลักฐานให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนหรือการนับซ้ำ
แม้สถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด แต่เจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ย่อท้อ โดยยึดหลัก “ความหวัง” เป็นแรงผลักดันในการค้นหาผู้รอดชีวิตจนถึงวินาทีสุดท้าย